พุทธสาวก http://loveloei.siam2web.com/

       

ประวัติพุทธสาวก

พระอนุรุทธะ

ประวัติและผลงานโดยสังเขป

พระอนุรุทธะ เป็นเจ้าชายในศากยะวงศ์ ถ้านับตามลำดับพระญาติวงศ์เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า ได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้รักสันโดษในปัจจัย 4 และมีทิพพจักขุญาณ (มีตาทิพย์) เพื่อพิจารณาบุคคลที่สมควรจะสั่งสอนธรรม

พระพุทธเจ้ายกย่องให้ท่านเป็นเอตทัคคะ (มีความเป็นเลิศ  เหนือภิกษุทั้งหลาย)  ในด้านมีทิพพจักขุญาณ  (มีตาทิพย์)  ซึ่งนำมาใช้คัดเลือกบุคคลที่จะไปอบรมสั่งสอนหรือฟังการแสดงธรรมตามระดับพื้นฐานของปุถุชนเหล่านั้น  ช่วยให้กิจการเผยแพร่พระศาสนามีความเจริญมั่นคง

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

          (1)  เป็นคนตั้งใจจริง

          (2)  มีวาทศิลป์ในการพูด

          (3)  มีความเพียรพยายาม

พระองคุลิมาล

ประวัติและผลงานโดยสังเขป

          พระองคุลิมาล  เป็นบุตรของพราหมณ์ที่เป็นอาจารย์ปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล  แห่งเมืองสาวัตถี  แคว้นโกศล  ถือกำเนิดในเวลากลางคืนตรงกับฤกษ์ดาวโจร  บิดาตั้งชื่อให้ว่า  “  อหิงสกะ”  แปลว่า  ผู้ไม่เบียดเบียนใคร

อหิงสกะเข้ารับการศึกษาในสำนักทิศาปาโมกข์แห่งหนึ่งที่เมืองตักกศิลา  แต่ได้รับฟังคำสั่งสอนที่ผิดๆจากอาจารย์โดยให้ไปฆ่าคนให้ได้หนึ่งพันคนและตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นพวงมาลัยเพื่อประกอบพิธีวิชาครูจึงถูกเรียกว่า  “  องคุลิมาล”  (  แปลว่า  มาลัยนิ้วมือ  )

พระเจ้าทรงทราบว่าองคุลิมาลจะฆ่ามารดาบังเกิดเกล้าเป็นคนที่  1,000  จึงทรงไปห้ามและได้แสดงธรรมโปรด  จนองคุลิมาลซาบซึ้งในรสพระธรรมและขอบรรพชาเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  แต่เมื่อพระองค์คุลิมาลออกไปบิณฑบาตทั้งในและนอกเมืองสาวัตถี  มักถูกญาติพี่น้องของผู้ตายใช้ก้อนหินขว้างปาทำร้ายให้ได้รับบาดเจ็บอยู่เสมอ        


 

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

          1.  มีความอดทน  อดกลั้น

          2. เป็นคนขยัน  รักการศึกษาเล่าเรียน

          3.  เป็นคนมักน้อย  รักสันโดษ

 

พระธัมมทินนาเถรี

ประวัติและผลงานโดยสังเขป

          พระธัมมทินนาเถรี  เป็นภิกษุณีที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล  แต่เดิมนางธัมมทินนาเป็นธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์  แคว้นมคธ  ได้สมรสกับวิสาขะเศรษฐีและใช้ชีวิตครอบครัวอย่างเป็นสุข

          ต่อมาวิสาขะเศรษฐีผู้สามีได้ฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า  ได้สำเร็จมรรคผลชั้นอนาคามี  ไม่ยินดีในกามกิเลส  รูป  กลิ่น  เสียง  และสัมผัส  และอธิบายความสุขในรสพระธรรมให้ภรรยาฟังจนนางธัมมทินนาเกิดศรัทธาประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณี  พระพุทธเจ้าได้ประทานอนุญาตให้บวชได้

          พระธัมทินนาเถรี    ได้ชื่อว่ามีความสามารถในการแสดงพระธรรมให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างชัดเจน  จึงได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในด้านธรรมกถึก  (ผู้แสดงธรรม) 

          คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

          1. เป็นคนฉลาด  ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาและเลือกหนทางแสวงหาความสุขให้แก่ชีวิต

          2. เป็นคนช่างสังเกต  รู้จักกาลเทศะ  มีสติ  ไม่วู่วาม

  

จิตตคหบดี

 ประวัติและผลงานโดยสังเขป

          จิตตคหบดี  เป็นเศรษฐีเกิดในตระกูลพ่อค้าในเมืองมัจฉิกาสัณฑะ  แคว้นมคธ  ได้ชื่อว่า  เป็นอุบาสกที่ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา  ชอบทำบุญอยู่เสมอ

          จิตตคหบดีมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระมหานามะ  พระภิกษุหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์  จึงเกิดความเลื่อมใสยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา  และถวายสวน  “ อัมพาฏกวัน”  เป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์และได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็น  “ อุบาสกธรรมกถึก” หรือยอดของอุบาสกผู้เก่งในการแสดงธรรมให้แก่ผู้อื่น

 คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

          1. มั่นคงในพระรัตนตรัย  ให้การทะนุบำรุงกิจการพระศาสนาด้วยดีตลอดชีวิต

          2. ชอบสนทนาธรรมกับผู้รู้ และเก่งในการพูดอธิบายขยายความให้ชัดเจน

          3. มีจิตใจโอบอ้อมอารี  ตั้งโรงทานทำบุญเลี้ยงคนอยากจน  จึงเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป

 
ประวัติพระมหากัสสปะ

พระประวัติ พระมหากัสสะ เดิมชื่อ ปิปผลิ เป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่อ กปิล หมู่บ้านมหาติฏฐะ เมืองราชคฤห์ นามเดิมของท่านไม่มีใครนิยมเรียก ส่วนใหญ่จะเรียกท่านว่า กัสสปะ ตามสกุลของท่าน

ปิปผลิมาณพ มีจิตใจใฝ่ในทางธรรม ไม่สนใจในกามคุณตั้งแต่เล็ก ๆ พอท่านอายุได้ 20 ปี บิดามารดาปรารถนาให้ท่านได้แต่งงานเป็นหลักฐาน จึงได้รบเร้าท่าน แต่ท่านก็พยามเบี่ยงบ่าย จนในที่สุดเมื่อทนความรบเร้าของบิดามารดาไม่ได้ จึงให้ช่างทองหล่อรูปสตรีที่สวยงามแล้วพูดว่า ถ้าหาสตรีที่มีความสวยงามเช่นรูปหล่อทองคำนี้ ก็จะแต่งงานด้วย บิดามารดาจึงสั่งให้พราหมณ์ 8 คน ค้นหาสตรีผู้มีรูปงามดั่งรูปหล่อทองคำ พราหมณ์ทั้งหมดจึงได้เดินทางไปแสวงหาจนถึงเมืองสาคละ แคว้นมัททะ ได้พบกับ นางภัททกาปิลานี ซึ่งเป็นบุตรสาวของโกลิยะพราหมณ์ เห็นว่ามีความสวยงามเช่นเดียวกับรูปหล่อทองคำ จึงไปเจรจาสู่ขอกับบิดามารดาของนางเพื่อให้สมรสกับท่านกัสสะ จนเป็นที่ตกลงกัน จึงแจ้งข่าวไปบอกแก่บิดามารดาของปิบผลิทราบ และได้กระทำการอาวาหมงคล (การแต่งงานโดยนำเจ้าสาวมาอยู่บ้านเจ้าบ่าว)

ทั้งปิบผลิมาณพและนางภัททกาปิลานี ทั้งสองท่านมีจิตใจที่ฝักใฝ่ในทางธรรม การแต่งงานจึงเป็นเพียงแต่แต่งในนามเท่านั้น ทั้งสองท่านไม่เกี่ยวข้องกันในทางกามารมณ์ เมื่อบิดามารดาของทั้งสองท่านสิ้นชีวิตลง ทรัพย์สมบัติของทั้งสองตระกูลก็ตกเป็นสมบัติของท่านทั้งสอง แต่ 2 สามีภรรยาก็หายินดีในทรัพย์สมบัติไม่ เมื่อทั้งสองเบื่อหน่ายในการครองเรือน จึงชวนกันออกบวชโดยการโกนผมนุ่งผ้ากาสาวะ สะพายหม้อดิน อุทิศต่อพระอรหันต์ในโลก

วันหนึ่ง ทั้งสองสามีภรรยาได้เดินมาถึงทาง 2 แพร่ง จึงแยกกันไป ปิปผลิเดินทางมาถึงตำบลระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทะต่อกัน ได้พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ใต้พหุปุตตนิโครธ (ต้นกร่าง) จึงเข้าไปทูลขอบวช พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาท 3 ข้อ คือ
1. เราจะพึงสำนึกด้วยความละอายใจและเกรงกลัวให้หนักแน่นในพระภิกษุสงฆ์ทุกระดับ หมายถึงให้มีความเคารพ
2. เมื่อฟังพระธรรมจะตั้งใจฟังธรรมนั้น พร้อมพิจารณาเนื้อความจนเกิดความเข้าใจความหมายของธรรมนั้น
3. จะตั้งสติไว้ในร่างกายไว้ให้มั่นคง

พระพุทธเจ้าทรงโปรดให้ปิปผลิได้รับการอุปสมบทด้วยการรับโอวาท 3 ข้อ หลังจากอุปสมบทแล้วท่านมีชื่อเรียกตามสกุลเดิมของท่านว่า “มหากัสสปะ” เมื่อพระมหากัสสปะอุปสมบทแล้วได้ประพฤติปฏิบัติตามพระโอวาท 3 ข้อนั้น และในวันที่ 8 ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พระมหากัสสปะมีนิสัยชอบความสงบ สงัด ยึดถือธุดงค์ 3 ข้ออย่างเคร่งครัด คือ
1) ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
2) เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
3) อยู่ป่าเป็นวัตร

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน พระมหากัสสปะได้ชักชวนพระสงฆ์ที่สำเร็จพระอรหันต์ จำนวน 500 รูป กระทำสังคายนา คือ ร้อยกรองพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและทรงบัญญัติไว้ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงจนกระทั่งปัจจุบันนี้ พระมหากัสสปะ มีความดีเด่นด้วยประการต่าง ๆ ดังนี้
1) พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านว่ามีคุณธรรมเสมอด้วยพระองค์
2) ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิของพระองค์กับผ้าสังฆาฏิของท่าน
3) พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษ
4) ท่านเป็นผู้รักษาศรัทธาของชาวบ้านได้มาก

พระมหากัสสปะมีอายุยืนยาวถึง 120 พรรษา จึงนิพพานที่ระหว่างเขาสามลูก เมืองราชค

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา ถึงแม้ว่าพระมหากัสสปะจะมีความประสงค์ไม่อยากแต่งงานมีครอบครัว แต่ด้วยความเคารพเชื่อฟังต่อบิดามารดา จึงได้ปฏิบัติตาม
2. เป็นผู้มีชีวิตเรียบง่าย พระมหากัสสปะ ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะในการปฏิบัติมักน้อยสันโดษ ท่านมีนิสัยชอบสงบ อยู่ในป่า ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร
3. เป็นผู้เคร่งครัดในข้อปฏิบัติ ดังที่ท่านประพฤติปฏิบัติตนในธุดงค์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตนเพื่อขัดเกลาตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย และเพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนได้ประพฤติปฏิบัติตาม
4. เป็นผู้รับภาระหน้าที่พิทักษ์พระพุทธศาสนาไม่ทอดทิ้ง จากการที่พระมหากัสสปะได้ทราบถึงความมัวหมองของพระศาสนาเพราะถูกคนดูหมิ่นหรือบิดเบือนความจริง ท่านกลับไม่นิ่งดูดาย ตรงกันข้ามกลับชักชวนพระภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ จำนวนถึง 500 รูป ทำการ สังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยจนสืบทอดต่อมาถึงทุกวันนี้

 

ประวัติพระอุบาลี

พระอุบาลีเถระ เป็นบุตรของนายช่างกัลบก ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญวัย ได้เป็นที่พอพระทัยเจ้าศากยะทั้ง 5 พระองค์ จึงได้รับตำแหน่งเป็นนายภูษามาลา

ต่อมาเมื่อศากยกุมารทั้ง 5 พระองค์เสด็จออกบวช ตนก็ได้ติดตามออกบวชด้วย พากันมาเฝ้าที่อนุปิยอัมพวันแห่งมัลลกษัตริย์ แคว้นมัลละ ศากยกุมารเหล่านั้นทูลขอให้บวชท่านก่อน เมื่อบวชแล้วได้ฟังพระกรรมฐานที่พระประทานสอนไม่ประมาทในการบำเพ็ญเพียร ในไม่ช้าก็บรรลุอรหันตผล ท่านได้ศึกษาและทรงจำพระวินัยอย่างแม่นยำชำนิชำนาญ จนกระทั่งได้รับพุทธานุญาตให้วินิจฉัยอธิกรณ์ 3 เรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ อัชชุกวัตถุ และกุมารกัสสปวัตถุ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงพระวินัย

ภายหลังเมื่อครั้งกระทำปฐมสังคายนา ท่านได้รับหน้าที่เป็นผู้วิสัชชนาพระวินัยปิฎก ท่านดำรงอายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลเวลา ก็ดับขันธปรินิพพาน

คุณธรรมที่ควรถือเอาเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้ทรงภูมิความรู้ เนื่องจากท่านได้ทรงจำและผ่านการศึกษาเล่าเรียนมามาก จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้มีหน้าที่วิสัชชนาพระวินัยปิฎก
2.เป็นผู้ที่วางตนเหมาะสม เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลผู้ใกล้ชิด
3. เป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญเพียร และมีความทรงจำอย่างแม่นยำชำนิชำนาญ

ประวัติอนาถบิณฑิกะ

อนาถบิณฑิกะ เดิมมีชื่อว่า “สุทัตตะ” เป็นบุตรชายของเศรษฐีชื่อสุมนะ ในเมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ส่วนมารดาไม่ปรากฏนาม คำว่า “อนาถบิณฑิกะ” เป็นชื่อที่เกิดจากคุณธรรมของท่าน เนื่องจากท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน โดยได้ตั้งโรงทานให้ทานแก่ยาจกวณิพกเป็นประจำ คนทั้งหลายจึงเรียกว่าอนาถบิณฑิกะ แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา ภายหลังต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งจากทางราชการสมัยนั้นให้อยู่ในตำแหน่งเศรษฐี โดยการสืบทายาทจากบิดาของท่าน ท่านจึงได้รับการเรียกชื่อว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้มาพบและได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ เหตุที่ได้เข้าเฝ้าเนื่องจากท่านได้มาทำกิจธุระเกี่ยวกับการค้าขายที่นี้และได้พักกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่มีฐานะเป็นเศรษฐีเหมือนกัน และวันนั้นท่านได้เห็นคนในบ้านตระเตรียมอาหารเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น จึงสอบถามเมื่อได้ฟังเรื่องราวจากเศรษฐีผู้เป็นเพื่อนแล้ว ก็เกิดความรู้สึกดีใจที่ได้ทราบว่ามีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงประทับอยู่ที่สีตวัน หรือป่าไม้สีเสียดใกล้กับพระเวฬุวัน ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า จนสำเร็จมรรคผลเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน ประกาศตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยด้วยศรัทธามั่นคง

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มั่นคงในการทำบุญ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้มีความมั่นคงในการทำบุญตั้งแต่ยังเยาว์วัย เป็นคนใจบุญสุนทานมาก ชอบทำบุญกุศลโดยเฉพาะการให้ทานและฟังธรรมเป็นประจำ
2. เป็นทายกตัวอย่าง ท่านเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ของชาวพุทธได้อย่างยอดเยี่ยม กล่าวคือ การอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ การชักชวนมหาชนให้ทำบุญกุศล ด้วยการให้ทาน และเมื่อบ้านใดมีกิจการงานบุญเกิดขึ้น ท่านมักจะได้รับการเชื้อเชิญให้ไปร่วมงานบุญนั้น ๆ อยู่เสมอ ๆ นอกจากนั้น ท่านยังชักชวนให้เพื่อนสนิทมิตรสหายตลอดจนบริวารให้หมั่นสดับตรับฟังธรรมะ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล แห่งการปฏิบัติอย่างแท้จริง นับว่าเป็นทายกที่เป็นแบบอย่างคนหนึ่ง



สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

 

 พระราชประวัติโดยสังเขป 

 

          สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา  ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์นักการทูต  ในรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ. 2199 – 2231) ไทยมีความเจริญรุ่งเรืองในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ และเป็นยุคทองของวรรณกรรม 

 

 พระราชกรณียกิจด้านศาสนา 

 

          1.  ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก คือ อุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนา ทรงให้เสรีภาพในการเผยแพร่คริสต์ศาสนาแก่บาทหลวงชาวฝรั่งเศส และยินยอมให้ราษฎรชาวไทยเข้ารับนับถือได้ตามศรัทธา 

 

          2.  ทรงทะนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนา เช่น ทรงบูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้น 

 

 

 

 

 

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

 

 

ประวัติและผลงานโดยสังเขป

  

          1.  พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ชื่อเดิม นายเงื่อม พานิช  (พ.ศ. 2499 – 2536) เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ “สวนโมกขพลาราม”  ที่อำเภอและจังหวัดเดียวกับบ้านเกิด

 

          2.  เป็นภิกษุที่ตั้งมั่นในการเผยแพร่หลักธรรมให้แก่พุทธศาสนิกชนอย่างเข้มแข็งตลอดชีวิตสมณเพศ ผลงานปรากฏทั้งในหนังสืองานเขียน และการบรรยายธรรม ฯลฯ 

 

 คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง 

 

          1.  มีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติหน้าที่ 

 

          2.  มีจิตใจเสียสละ ได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่เพื่อการเผยแผ่พระศาสนา 

 

          3.  ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ชอบอ่านชอบค้นคว้า 

 

          4.  มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา

 

 

 

 

 

 

พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)

 

 

 ประวัติและผลงานโดยสังเขป 

 

          1.  พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ชื่อเดิม นายปั่น เสน่ห์เจริญ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2454 ที่อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

 

          2.  พระปัญญานันทภิกขุ ได้อุทิศตนให้กับงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ท่านมีความสามารถในการเทศนาแสดงธรรม และได้เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับธรรมะโดยใช้ภาษาธรรมอย่างง่าย  

 

 คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง 

 

          1.  มีความขยันและรับผิดชอบต่อหน้าที่ 

 

          2.  รักการศึกษา ใฝ่การเรียนรู้ 

 

          3.  เป็นพระนักคิดนักพัฒนา เพื่อแก้ไขความคิดและความเชื่อที่ไม่ถูกต้องของชาวพุทธบางคน

 

 

ดร.อัมเบดการ์  (Dr. Bhimji Ramji Ambedkar)

 

 

ประวัติและผลงานโดยสังเขป 

 

 ดร.อัมเบดการ์  (Dr. Bhimji Ramji Ambedkar) เป็นชาวอินเดีย แต่เดิมนับถือศาสนาฮินดู มีชีวิตในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2434 – 2499 บิดาเป็นทหาร แต่เพราะเกิดในวรรณะศูทรที่ต่ำต้อยในสังคมอินเดียจึงถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง เขาจบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา 

 

 ดร. อัมเบดการ์ ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อยกฐานะและต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของคนวรรณะศูทรและจัณฑาล เมื่อ พ.ศ. 2467 โดยใช้วิธีต่อสู้แบบ “อหิงสา” คือสงบและสันติ ตลอดจนต่อสู้ให้กับสตรีที่ถูกกดขี่และไม่ได้รับในความเสมอภาคเท่าเทียมกับชาย

 

          ดร. อัมเบดการ์ ได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 2478 โดยให้เหตุผลว่าพระพุทธศาสนาไม่ขัดแย้งกับวิถีการดำเนินการชีวิตของชาวอินเดีย เป็นศาสนาแห่งความสะอาด ไม่แบ่งแยกในชั้นวรรณะของคน

  

คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง 

 

          1.  เป็นคนรักความก้าวหน้า รักการศึกษาเล่าเรียน จบปริญญาตรี โท และเอก ในสาขาต่าง ๆ เช่น กฎหมาย วรรณคดี และเศรษฐศาสตร์ ทั้งมหาวิทยาลัยในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา 

 

          2.  มีความอดทนและอดกลั้นเป็นเลิศ เพราะถูกกดขี่ข่มเหงจากคนวรรณะที่สูงกว่า 

 

          3.  ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ได้ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยนำมาเผยแพร่ในหมู่คนวรรณะต่ำ และได้ก่อตั้งชุมชนชาวพุทธขึ้นในสังคมอินเดีย 

 

          4.  มีจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว  กล้าหาญ เสียสละ มีความกล้าหาญทางจริยธรรม คือ กล้าต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง หรือ ความยุติธรรมที่ได้รับ โดยวิธีสงบและสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง

ประวัติพุทธสาวิกา

ประวัตินางวิสาขา

นางวิสาขา เกิดในตระกูลเศรษฐี บิดาชื่อ ธนัญชัย มารดาชื่อ สุมนาเทวี เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามารดามาอยู่เมืองสาเกต ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองพาราณสี เมื่อนางวิสาขามีอายุได้ 7 ขวบ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่ออายุได้ 16 ปี นางได้แต่งงานกับชายหนุ่มชื่อ ปุณณวัฒน ซึ่งเป็นลูกเศรษฐีในเมืองสาวัตถี

นางวิสาขา มีคุณสมบัติที่พรั่งพร้อมด้วยเบญจกัลยาณี หมายถึงลักษณะงดงามพร้อมทั้ง 5 ประการ ได้แก่ 1) ผมงาม คือ ผมดำสลวยเป็นเงางาม 2) เนื้องาม คือ เหงือกงามและริมฝีปากงาม 3) กระดูกงาม คือ ฟันขาวงามเป็นระเบียบ 4) ผิวงาม คือ ผิวเกลี้ยงเกลางามไม่มีไฝฝ้า และ 5) วัยงาม คือ มีความงามเหมาะสมกับวัยของตน

วันหนึ่งนางวิสาขาได้จัดงานทำบุญเลี้ยงพระที่คฤหาสน์ของตน ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกมาฉันอาหาร นางวิสาขาได้ส่งคำเชิญไปยังมิคารเศรษฐีบิดาสามีของตนซึ่งยังไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาให้มาร่วมทำบุญ เมื่อมิคารเศรษฐีได้เฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรมซึ่งไม่เคยฟังมาตลอดชีวิต ฟังจบก็สำเร็จอริยบุคคลชั้นโสดาบัน

นางวิสาขาเป็นผู้ริเริ่มการถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุผู้เข้าพรรษา เพราะนางทราบว่าภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนไม่เหมาะสม ดูประหนึ่งชีเปลือย จึงขออนุญาตพระพุทธเจ้าถวายผ้าอาบน้ำฝน ต่อมาจึงเป็นประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝนมาถึงทุกวันนี้

 

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
2. เป็นผู้มีความเชื่อฟังบิดา มารดา และมีความซื่อสัตย์มั่นคงต่อสามี
3. เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ใช้หลักธรรมแก้ปัญหาในครอบครัวได้
4. เป็นผู้ที่สามารถเปลี่ยนความเชื่อถือของบิดาสามี ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา

นางวิสาขาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเอตทัคคะ (เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการถวายทาน มีอายุยืนยาวถึง 120 ปี มีบุตรชาย 10 คน บุตรสาว 10 คน เป็นสาวิกาที่อุปถัมถ์พระพุทธศาสนาที่สำคัญคนหนึ่งคู่กับอนาถบิณฑิกเศรษฐี

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 50,220 Today: 2 PageView/Month: 43

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...